“อาชีวะ” สร้างชาติ

อาชีสะ.jpg

ประเทศไทยประสบปัญหาการขาดแคลนนักศึกษาในสาขา STEM Field (Science, Technology, Engineering, and Mathematics) เป็นอย่างมาก ซึ่งส่งผลทำให้ประเทศไทยต้องเป็นผู้ล้าหลังในการลงทุนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกลายเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศในช่วงที่ผ่านมา (และในอนาคต)

นอกจากการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะระดับสูงแล้ว จากการสำรวจความต้องการแรงงานในภาคอุตสาหกรรมยังพบว่า ภาคอุตสาหกรรมไทยยังประสบกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานในระดับกลาง (Mid-Skill) โดยเฉพาะกลุ่มช่างเทคนิคที่ทำงานในโรงงาน ด้วยเช่นเดียวกัน 

ทั้งนี้ การขาดแคลนแรงงานฝีมือในระดับกลางดังกล่าว ส่งผลให้รัฐบาลปัจจุบันได้ประกาศนโยบายในการขับเคลื่อนการศึกษาในระดับอาชีวะศึกษาอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการอุดหนุนค่าเล่าเรียน การให้โอกาสในการฝึกงาน (ควบคู่ไปกับการเรียน) การให้เบี้ยเลี้ยงและที่พักอาศัย โดยตั้งเป้าหมายให้สัดส่วนของนักเรียนอาชีวะศึกษา (โดยเปรียบเทียบกับนักเรียนในหลักสูตรสามัญศึกษา) เพิ่มเป็นร้อยละ 60:40 (ซึ่งในปัจจุบันที่มีผู้เรียนอาชีวะศึกษาต่อสามัญศึกษาอยู่ที่ร้อยละ 40:60)

ถ้ามองในแง่ของอุปสงค์ในการจ้างงาน (Labor Demand) ถึงแม้ว่านักศึกษาจากรั้วอาชีวะดูจะเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงงานมากก็ตาม แต่ถ้าพิจารณาจากทางด้านอุปทาน (Labor Supply) แล้วยังพบว่า เป้าหมายในการการเพิ่มสัดส่วนเป็นร้อยละ 60:40 ดังกล่าวยังคงมีความท้าทายในหลายประเด็น 

ประเด็นที่ 1 ถึงแม้ว่านักศึกษาในระดับอาชีวะจะเป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานมากก็ตาม แต่ความต้องการดังกล่าวก็ยังไม่ได้สะท้อนถึงค่าจ้างที่นักศึกษาอาชีวะจะได้รับมากขึ้นแต่ออย่างไร นักศึกษาในระดับอาชีวะ (ที่จบมาทางด้านช่างเทคนิค) ยังได้รับค่าจ้างที่ต่ำกว่านักศึกษาในระดับปริญญาตรี (ในสาขาที่จบมามากๆ อย่างสังคมศาสตร์) ในเชิงวิชาการ ได้มีการประมาณการอัตราผลตอบแทนทางด้านการศึกษา (Rate of Return) จากการเรียนในระดับอาชีวะศึกษาพบว่า อัตราผลตอบแทนดังกล่าวยังต่ำกว่าการเรียนในระดับอุดมศึกษา ซึ่งส่วนนี้แสดงว่า ตลาดแรงงานยังไม่ได้มีการปรับตัวและส่งสัญญาณของความต้องการอย่างแท้จริง ด้วยความแตกต่างของค่าจ้างดังกล่าวจึงทำให้นักศึกษาจึงเลือกที่จะเรียนในหลักสูตรสามัญศึกษามากกว่า เพราะจบมารายได้ดีกว่า ทำงานสบายกว่า

ประเด็นที่ 2 ในปัจจุบัน ระบบอุดมศึกษาไทยได้เปิดโอกาศให้นักเรียนได้รับโอกาสในการศึกษาต่อมากขึ้น โดยสังเกตุได้จากการที่อัตราการลงทะเบียน (Gross Enrollment Rate) ในระดับอุดมศึกษาที่มีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในรอบทศวรรษที่ผ่านมา (จากร้อยละ 39 ในปี 2000 เป็นร้อยละ 60.5 ในปี 2007 หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 55) โอกาสที่ได้รับในการศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยเปิดกว้างมากขึ้นจาก การเกิดใหม่ของมหาวิทยาลัยใหม่ๆ การเปิดหลักสูตรใหม่ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน และการเข้าถึงแหล่งทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา เป็นต้น ดังนั้น ด้วยโอกาสที่เปิดกว้างจึงส่งผลทำให้นักศึกษาเลือกที่จะเรียนต่อในระดับอุดมศึกษามากขึ้น ทดแทนการเรียนในระดับอาชีวะศึกษา

ประเด็นที่ 3 เมื่อวิเคราะห์ตามกลุ่มรายได้แล้วจะพบว่า นักเรียนที่มาจากครอบครัวที่มีรายได้ปานกลาง-สูงจะเลือกเรียนในระดับอุดมศึกษามากกว่าอาชีวะศึกษา ในขณะที่นักเรียนที่มาจากครอบครัวที่มีรายได้ปานกลาง-ต่ำจะเรียนในระดับอาชีวะ ครอบครัวที่รายได้สูง (เช่นเจ้าของธุรกิจเอกชน) ก็จะนิยมส่งลูกหลานไปเรียนไปมหาวิทยาลัย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกลับมารับช่วงทำธุรกิจต่อ ครอบครัวที่มีฐานะปานกลางก็จะเลือกส่งลูกเรียนในระดับอุดมศึกษาเนื่องจากมองว่าหางานง่ายกว่า ทำงานสบายกว่า และมีโอกาสในการเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานมากกว่า ในขณะที่ครอบครัวที่มีรายได้น้อยอาจจะต้องพึ่งพาเงินจากกองทุนกู้ยืมเพือการศึกษาในการเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ อาชีวะศึกษายังเปิดการสอนให้แก่กลุ่มผู้ด้อยโอกาส หรือไม่ได้รับการศึกษาในตอนเด็ก เช่นระบบการศึกษานอกระบบ ซึ่งในเชิงของเศรษฐศาสตร์แล้วมองว่า ระบบการศึกษาไทยยังเป็นระบบที่ไม่ได้สร้างความเท่าเทียมกัน (Equity Assess) มากเท่าที่ควร

ประเด็นที่ 4 ถ้าจะพิจารณาจำแนกตามสาขาวิชาในอาชีวะศึกษาแล้วจะเห็นได้ว่า สาขาที่ขาดแคลนอย่างทางด้านช่างอุตสาหกรรมและช่างเทคริคมีสัดส่วนของนักเรียนอาชีวะอยู่เพียงร้อยละ 44 ในขณะที่สัดส่วนของผู้เรียนอาชีวะส่วนใหญ่ (ร้อยละ 48) จะเป็นนักศึกษาในสาขาพาณิชย์ศาสตร์และบริหารธุรกิจ ซึ่งไม่ได้เป็นสาขาที่ขาดแคลนในตลาดแรงงาน ทั้งนี้เนื่องจากว่า สถาบันอาชีวะศึกษาจำนวนมาก (ร้อยละ 34-36) เป็นสถาบันเอกชน (Private Vocational and Technical Institute) ที่มักนิยมเกิดสอนในหลักสูตรที่มีต้นทุนในการบริหารจัดการต่ำ อย่างสาขาบริหารธุรกิจ ในขณะที่หลักสูตรที่มีต้นทุนการบริหารจัดการสูงอย่างเช่น สาขาช่างอุตสาหกรรมและช่างเทคนิคมักจะเปิดสอนในสถาบันอาชีวะของภาครัฐ (แต่เปิดสอนในภาคเอกชนน้อยมาก) ดังนั้นการเพิ่มสัดส่วนของสถาบันอาชีวะที่เน้นเปิดสอนในสาขาช่างอุตสาหกรรมและช่างเทคนิคที่ขาดแคลนนี้จึงเป็นอีกประเด็นที่ภาครัฐต้องคำนึงถึง

ประเด็นสุดท้าย (และเป็นประเด็นที่สำคัญที่สุด) ก็คือ ทัศนคติที่สังคมไทยมีต่อเด็กอาชีวะ ต้องยอมรับครับว่า สังคมไทยตอนนี้มองเด็กอาชีวะว่าเป็นเด็กที่มีความก้าวร้าว จากการยกพวกตีกัน ซึ่งประเด็นนี้เป็นประเด็นที่สำคัญที่สุด และเป็นอุปสรรคหลักต่อความยากในการเพิ่มความสรใจในการเรียนอาชีวะศึกษา ครอบครัวหลายบ้านไม่อยากให้ลูกไปเรียนในระดับอาชีวะศึกษาเนื่องจากกลัวว่าลูกจะเป็นอันตราย

จากประเด็นที่กล่าวมาข้างต้น เมื่อเปรียบเทียบกับระบบอาชีวะศึกษาของในบางประเทศ อย่างเยอรมนีหรือญี่ปุ่น นักศึกษาที่จบอาชีวะศึกษาจากประเทศเหล่านั้นได้รับการยกย่องว่าเป็นคนเก่ง ได้รับค่าตอบแทนที่ดี และมีโอกาสในการก้าวหน้าสูง (อาจจะกว่านักศึกษาที่จบมาจากสายสามัญ) ซึ่งคงเป็นประเด็นท้าทายสำหรับภาคอาชีวะศึกษาของไทยต่อไปครับว่า เราจะทำให้เป็นเช่นนั้นได้อย่างไร

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

ติชม


ต้องการให้คะแนนบทความนี้่ ?

สร้างโดย :


Planning

สถานะ : ผู้ใช้ทั่วไป
ไม่ระบุ