ทวิภาคี คืออะไร

logo dve _1409887883.jpg

DVE คืออะไร?

Dual Vocational Education (DVE)

 

1.  การจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี หมายถึง

       'ทวิภาคี' แปลว่า สองฝ่าย ซึ่งหมายถึง สถานประกอบการและโรงเรียน เยาวชนที่เข้าร่วมฝึกอาชีพในโครงการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีนั้นจะมี 2 สถานภาพในบุคคลเดียวกัน คือ เป็นนักเรียน นักศึกษาในโรงเรียน และในขณะเดียวกันก็เป็นพนักงานฝึกอาชีพของสถานประกอบการด้วยการจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี เป็นการจัดการศึกษาด้านอาชีพอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งการศึกษาในระบบนี้ผู้เรียนหรือผู้ฝึกหัด (Trainee) จะต้องเรียนรายวิชาสามัญ รายวิชาชีพพื้นฐาน โดยเรียนและฝึกปฏิบัติเบื้องต้น ที่สถานศึกษา 

2.  วัตถุประสงค์ของการฝึกอาชีพ

      2.1  เพื่อพัฒนาบุคลากรให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

      2.2  เพื่อพัฒนาบุคลากรให้มีฝีมือ ความรู้ ความสามารถ และทันต่อเทคโนโลยี ตรงตามความต้องการของสถานประกอบการ

      2.3  เพื่อเตรียมบุคลากรทางด้านอาชีวศึกษาเข้าสู่ตลาดแรงงาน

 

 

 

 

3.  ประโยชน์ที่นักเรียน นักศึกษาได้รับ

3.1  ประโยชน์ทั่วไป

3.1.1 ได้รับค่าเบี้ยเลี้ยง และสวัสดิการอื่น ๆ ตามที่ตกลงกัน

3.1.2 โอกาสที่จะเข้าทำงานในสถานประกอบการที่ได้ฝึกอาชีพอยู่ก่อนคนอื่น

3.1.3 ได้รับใบรับรองจากสถานประกอบการ

3.1.4 ได้รับประกาศนียบัตร ปวชและ ปวสเช่นเดียวกับนักเรียน นักศึกษาปกติ

3.1.5 ได้โอกาสศึกษาต่อระดับสูงขึ้นต่อไป

3.2. ประโยชน์ทางวิชาการ

        3.2.1 ความรู้ทางทฤษฎีที่เรียนกับสถานศึกษา สามารถนำไปใช้ประยุกต์เข้ากับภาคปฏิบัติในสถานประกอบการได้ทันที ไม่ต้องรอให้จบการศึกษา เป็นการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจให้ถ่องแท้

        3.2.2 มีทักษะในการปฏิบัติงานวิชาชีพที่ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการเพราะนักเรียนนักศึกษาฝึกอาชีพจริงอยู่ในสถานประกอบการอยู่แล้ว ดังนั้นโอกาสที่จะได้งานทำจึงมีสูงกว่าผู้ที่เรียน

ภป-อาชีวศึกษา-728x504.jpg

การจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี เป็นการจัดการศึกษาวิชาชีพที่เกิดจากข้อตกลงระหว่างสถานศึกษาหรือสถาบันกับสถานประกอบการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ ในเรื่องการจัดหลักสูตรการเรียนการสอน การวัดและประเมินผลโดยผู้เรียนใช้เวลาส่วนหนึ่งในสถานศึกษาอาชีวศึกษาหรือสถาบัน และเรียนภาคปฏิบัติในสถานประกอบการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ

ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับในวงการการอาชีวศึกษาว่าการจัดการศึกษาระบบทวิภาคีเป็นรูปแบบที่มีประสิทธิภาพกว่ารูปแบบอื่นๆ เพราะนักศึกษาที่ผ่านการศึกษาจากระบบทวิภาคีจะมีทักษะในด้านการปฏิบัติ ซึ่งได้เรียนรู้ทฤษฎีต่างๆ จากการปฏิบัติงานจริง มิได้เรียนจากตำราในห้องเรียน และเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วสามารถทำงานได้ทันที ในขณะที่ผู้จบการศึกษาในรูปแบบปกติต้องเข้ารับการฝึกก่อนเข้าทำงาน

พัฒนาการของการจัดอาชีวศึกษาโดยความร่วมมือระหว่างสถานศึกษาและสถานประกอบการ ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ.2527 โดยระยะแรกเริ่มดำเนินการ “โครงการโรงเรียน-โรงงาน (DUAL SYSTEM)” มีการจัดตั้งวิทยาลัยต้นแบบที่ได้รับความช่วยเหลือทางวิชาการจากรัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และได้มีการพัฒนา ปรับปรุง หลักสูตร และวิธีจัดการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่องตลอดมาจนถึงปี พ.ศ.2556 สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้จัดตั้ง “ศูนย์อาชีวศึกษาทวิภาคี (Dual Vocational Education Center)” ขึ้นเป็นหน่วยงานภายใน และมีกำลังคนอยู่ 7 คน

ศูนย์นี้มีหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนระบบทวิภาคีเป็นการเฉพาะ จัดทำรูปแบบและแนวทางการปฏิบัติเพื่อมอบให้สถานศึกษาในกำกับของ สอศ.ทุกแห่ง สามารถจัดการเรียนการสอนระบบทวิภาคีได้อย่างน้อย 1 สาขาวิชา ตั้งแต่ปีการศึกษา 2556 เป็นต้นไป และจะส่งเสริมและสนับสนุนให้สถานศึกษาในสังกัดสามารถจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีเต็มรูปแบบ

ขณะนี้มีรูปแบบการจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีที่ สอศ.ให้ความเห็นชอบแล้ว จำนวน 5 Models ดังนี้

Model A การจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีเต็มรูปแบบ (ร้อยเปอร์เซ็นต์) ในพื้นที่ คือ มีสถานประกอบการในพื้นที่ของสถานศึกษา ผู้เรียนทุกคน ทุกสาขาวิชา ได้เข้าฝึกอาชีพในสถานประกอบการ

Model B การจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีเต็มรูปแบบ (ร้อยเปอร์เซ็นต์) นอกพื้นที่ คือ ไม่มีสถานประกอบการในพื้นที่ตั้งสถานศึกษา ผู้เรียนทุกคน ทุกสาขาวิชา ได้เข้าฝึกอาชีพในสถานประกอบการ โดยจะต้องมีการจัดที่พักใกล้กับสถานประกอบการที่ไปฝึกอาชีพให้แก่ผู้เรียน และมีครูควบคุมดูแล

Model C การจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีบางสาขาวิชา

Model D การจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีให้พนักงานของสถานประกอบการ

Model E การจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีกับสถานประกอบการในต่างประเทศ

สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาได้ดำเนินการพัฒนาหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) พ.ศ.2556 หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) พ.ศ.2557 และหลักสูตรปริญญาตรีสายเทคโนโลยีหรือสายปฏิบัติการ กระทรวงศึกษาธิการได้มีประกาศ เรื่อง “มาตรฐานการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี” ลงวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ.2557 โดยได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 131 ตอนพิเศษ 239 วันที่ 24 พฤศจิกายน 2557 ให้สถานศึกษาและสถานประกอบการที่ร่วมจัดการอาชีวศึกษา ระบบทวิภาคีใช้เป็นหลักและแนวทางในการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความตระหนักและให้ความสำคัญกับการอาชีวศึกษา เนื่องจากการอาชีวศึกษาเป็นการจัดการศึกษาที่ผลิตคนเข้าสู่ภาคแรงงาน ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม

จึงมีนโยบายสำคัญในการขับเคลื่อนการอาชีวศึกษาให้มีคุณภาพ เพื่อสร้างคุณภาพของคนไทยให้สามารถเรียนรู้ พัฒนาตนได้เต็มตามศักยภาพ ประกอบอาชีพและดำรงชีวิตได้ โดยมีความใฝ่รู้และมีทักษะที่เหมาะสม เป็นคนดีมีคุณธรรม สร้างเสริมคุณภาพการเรียนรู้ โดยเน้นการเรียนรู้เพื่อสร้างสัมมาชีพในพื้นที่ ลดความเหลื่อมล้ำ และพัฒนากำลังคนให้เป็นที่ต้องการเหมาะสมกับพื้นที่ ทั้งในด้านการเกษตร อุตสาหกรรม และธุรกิจบริการ

พัฒนาคนทุกช่วงวัยโดยส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อให้สามารถมีความรู้และทักษะใหม่ที่สามารถประกอบอาชีพได้หลากหลาย ตามแนวโน้มการจ้างงานในอนาคต ส่งเสริมอาชีวศึกษา เพื่อสร้างแรงงานที่มีทักษะโดยเฉพาะในท้องถิ่นที่มีความต้องการแรงงาน

และพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการศึกษาให้เชื่อมโยงกับมาตรฐานวิชาชีพ

การจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานและภาคประกอบการที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการ ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และที่สำคัญคือภาคประกอบการ ทั้งในส่วนของสถานประกอบการขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี (SMEs) เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาจึงจะเดินหน้าไปสู่ความสำเร็จได้

 

การดำเนินการของสถานประกอบการเพื่อให้มีความพร้อมนั้น ต้องมีการบริหารจัดการที่เหมาะสมและต้องมีค่าใช้จ่าย มาตรการจูงใจให้ได้รับความร่วมมือจากสถานประกอบการที่มีประสิทธิภาพสูงสุด คือ การที่สถานประกอบการสามารถนำค่าใช้จ่ายจากการดำเนินการในความร่วมมือจัดการศึกษาระบบทวิภาคีกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และสถานศึกษาอาชีวศึกษา ไปลดหย่อนภาษีเงินได้จากกรมสรรพากร

การยื่นเอกสารเพื่อขอลดหย่อนภาษีนั้นจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายของกระทรวงแรงงาน โดยอนุโลม คือ พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2557 เนื่องจากไม่มีกฎหมายฉบับอื่นบัญญัติให้ปฏิบัติได้ ทำให้เกิดปัญหาสำหรับสถานประกอบการที่ร่วมจัดการศึกษาระบบทวิภาคีใน 2 ประเด็น คือ วิธีจัดทำรายละเอียดของการจัดการศึกษาระบบทวิภาคี (ที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงานถือว่าเป็นการฝึกเตรียมเข้าทำงาน) และสถานประกอบการไม่ทราบว่า ค่าใช้จ่ายส่วนใดบ้างที่สามารถยื่นขอลดหย่อนภาษีเงินได้จากกรมสรรพากร

ดังนั้น เพื่อเป็นการหาทางออกในเรื่องดังกล่าว สร้างแนวทางในการขับเคลื่อนการจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีให้มีความเข้มแข็ง สอดคล้องตามแนวนโยบายของรัฐบาล และให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาได้มีกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ และแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการต่างๆ เป็นการเฉพาะ

จึงมีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะอันนำไปสู่แนวทางในการบูรณาการความร่วมมือในการจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี โดยแบ่งแนวทางการแก้ไขปัญหาออกเป็นการแก้ไขปัญหาระยะสั้น และการแก้ไขปัญหาระยะยาว ดังนี้

 

 

การแก้ไขปัญหาระยะสั้น

สถานศึกษาหรือสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาควรต้องให้ความช่วยเหลือสถานประกอบการตามความเหมาะสม รูปแบบของความช่วยเหลือควรประกอบด้วย การช่วยอธิบายข้อกำหนดทางกฎหมาย ตลอดจนกฎระเบียบของหน่วยงานภาครัฐ การช่วยเตรียมเอกสารข้อมูลทั้งในส่วนที่ต้องเสนอต่อกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และเอกสารที่ต้องยื่นเพื่อลดหย่อนภาษีต่อกรมสรรพากร ตลอดจนการจัดให้มีการประชุมกลุ่มสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการเพื่อชี้แจงข้อมูลและรายละเอียดด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและนำมาสู่ปัญหาตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ให้เป็นที่ทราบโดยทั่วไปในกลุ่มของสถานประกอบการที่เข้าร่วมในโครงการจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี พร้อมกับจัดทำเอกสารและจัดทำแบบฟอร์มสำหรับการหักค่าใช้จ่ายในการเสียภาษีเงินได้ประจำปีให้แก่สถานประกอบการ (ถ้าจำเป็น)

นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาควรหารือเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน เพื่ออธิบายหลักการจัดการศึกษาระบบทวิภาคี วิธีการปฏิบัติ และค่าใช้จ่ายที่สถานประกอบการต้องรับผิดชอบ รวมถึงขอความร่วมมือจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน แจ้งให้หน่วยงานในสังกัดทราบเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติและให้ความสนับสนุนเมื่อสถานศึกษาและสถานประกอบการในพื้นที่รับผิดชอบยื่นคำขอรับความเห็นชอบและขอการรับรองที่เป็นประโยชน์สำหรับการขอลดหย่อนภาษีจากหน่วยงานของกรมสรรพากรในพื้นที่

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัญหาสำคัญที่เหลืออยู่ คือ ค่าใช้จ่าย 2 ส่วนที่ไม่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ เนื่องจากมิได้กำหนดไว้ในประกาศของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้แก่ เบี้ยเลี้ยงนักศึกษาในวันที่ไม่มีการฝึกและเงินค่าสอนสำหรับครูในสถานประกอบการ ซึ่งรัฐบาลสามารถดำเนินการแก้ไขปัญหานี้ได้โดยนำเสนอขออนุมัติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

การแก้ไขปัญหาระยะยาว

ปัญหาทั้งหมดที่เกิดกับสถานประกอบการ ตามที่ได้กล่าวถึงในเบื้องต้นนั้น เกิดจากการมีความจำเป็นต้องนำพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2557 มาใช้โดยอนุโลม เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาไม่มีกฎหมายอื่น ระเบียบ หรือหลักเกณฑ์ที่มีบทบัญญัติให้สถานประกอบการนำค่าใช้จ่ายไปขอลดหย่อนภาษีเงินได้ ปัญหาดังกล่าวนี้จึงเป็นการ “ขาดกฎหมายที่กำหนดความชัดเจนในการลดหย่อนภาษีเงินได้”

การแก้ไขปัญหาระยะยาว สมควรที่จะดำเนินการให้มีกฎหมายที่ส่งเสริมการจัดการศึกษาระบบทวิภาคีเป็นการเฉพาะ โดยให้มีบทบัญญัติส่วนหนึ่งสำหรับแก้ปัญหาระยะยาวใน 2 ประเด็น คือ

1.ให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา หรือ สอศ. เป็นผู้ให้การรับรองหลักสูตรที่ใช้ในการเรียนที่สถานประกอบการ

2.ให้คณะกรรมการการอาชีวศึกษาเป็นผู้กำหนดประเภทและอัตราของค่าใช้จ่ายที่สามารถนำไปยื่นขอลดหย่อนภาษีจากกรมสรรพากร

ทั้งนี้ เพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาได้มีกฎหมาย ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการดำเนินการขับเคลื่อนกระบวนการจัดการศึกษารูปแบบดังกล่าวให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างสมบูรณ์

คณะอนุกรรมาธิการการอาชีวศึกษา
คณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ

 

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

ติชม


ต้องการให้คะแนนบทความนี้่ ?

สร้างโดย :


Latest

สถานะ : ผู้ใช้ทั่วไป
ไม่ระบุ