อาชีวศึกษากับประเทศไทย 4.0
อาชีวศึกษากับประเทศไทย 4.0
อาชีวศึกษากับประเทศไทย 4.0
อาชีวศึกษากับประเทศไทย 4.0
นโยบายประเทศไทย 4.0 เป็นแนวคิดที่จะปรับเปลี่ยนประเทศ เพื่อให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง อันหมายถึงประเทศกำลังพัฒนา ไปสูงประเทศที่มีรายได้สูงกลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว แนวทางในการดำเนินการของแผนนโยบายเป็นแผนระยะยาว 20 ปี เพื่อนำประเทศไปสู่ความทันสมัย สอดคล้องกับยุคดิจิทัลที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของประชาชนทั่วไป การเปลี่ยนแปลงประเทศสู่ยุค 4.0 ส่งผลต่อทุกภาคส่วนรวมถึงอาชีวศึกษา
การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดใหญ่จะสะท้อนใน 4 ภาคส่วนคือ นโยบายทุกหน่วยงานของประเทศจะมุ่งสู่ดิจิทัลไทยแลนด์ เป็นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาสู่วิถีชีวิตและการบริหารจัดการหน่วยงาน นำประเทศไปสู่การแข่งขันที่มุ่งเน้นการสร้างสรรค์นวัตกรรมนำไปสู่ผลิตภัณฑ์ ข้ามพ้นประเทศที่เป็นผู้ผลิตเพื่อการส่งออกที่ใช้การรับจ้างผลิตด้วยแรงงานฝีมือ ไปสู่การคิดสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ทำเป็นสินค้าเพื่อการจัดหน่าย มุ่งเน้นการเป็นผู้ประกอบการของคนยุคใหม่
ในส่วนของอุตสาหกรรมก็จะปรับเปลี่ยนเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ที่จะพึ่งพาเครื่องจักรและระบบควบคุมอัตโนมัติเข้ามาแทนแรงงานคน เปลี่ยนการผลิตที่เน้นการเพิ่มผลผลิตจำนวนมากโดยการใช้หุ่นยนต์เข้ามาแทนที่ในกระบวนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม คนจะเปลี่ยนไปเป็นผู้ควบคุมเครื่องจักร เปลี่ยนไปเป็นผู้คิดค้นและกำหนดวิธีการทำงานให้เครื่องจักร จึงต้องใช้คนที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพสูงเข้ามาแทนที่แรงงานฝีมือแบบเดิม
การปรับเปลี่ยนประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0 พัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ด้วยการผลิตแบบอุตสาหกรรม 4.0 เป็นสิ่งที่จะเกิดอย่างแน่นอน ขณะที่ระบบการศึกษาก็ต้องปรับตัวให้รองรับต่อการเปลี่ยนแปลง สร้างความสามารถการแข่งขันให้กับประเทศ การจัดการเรียนการสอนต้องปรับเข้าสู่ยุคการศึกษา 4.0 ที่เน้นการผลิตคนเพื่อนำไปสู่การผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ ต้องผลิตคนที่สร้างสรรค์นวัตกรรม เปลี่ยนความคิดไปสู่การเป็นเจ้าของกิจการไม่ใช่ไปเป็นแรงงานและลูกจ้างอย่างในอดีต
ระบบการศึกษาไทยที่ล้าหลังยังคงเน้นการสอบแข่งขัน การท่องจำ การสอนเนื้อหาเพื่อนำไปใช้ในการเรียนต่อ ไม่ได้สอนเพื่ออยู่ในชีวิตประจำวันที่แท้จริง ไม่ได้เน้นที่จะให้ผู้เรียนเกิดความคิดสร้างสรรค์ การแก้ปัญหา การสื่อสารและการทำงานร่วมกับผู้อื่น ๆ กลายเป็นการผลิตคนที่ชิงดีชิงเด่นสร้างคนที่ไปเป็นเจ้าคนนายคน จนอันดับการศึกษาของประเทศไปอยู่ในลำดับท้ายของโลก แม้แต่ลำดับการศึกษาในอาเซียนก็อยู่ท้าย ๆ เช่นกัน
การศึกษาไทยต้องเปลี่ยนแปลงสู่การศึกษา 4.0 เป็นการเปลี่ยนการเรียนรู้และการผลิตคนให้สอดคล้องกับประเทศไทย 4.0 แต่การจัดการศึกษาไม่สามารถไปสู่จุดนั้นได้เนื่องจากวิธีการและการจัดการเรียนการสอนยังเป็นแค่การศึกษา 1.0 ที่ไม่ก้าวพ้นถึงระดับ 3.0 คอขวดการศึกษายังเป็นการสอบเพื่อการแข่งขัน ระบบการศึกษาต่อยังเป็นการคัดคนเก่งไม่ใช่คัดคนยุคดิจิทัล แตกต่างจากการอาชีวศึกษาที่ไม่ได้สนใจการคัดคนเก่งแต่เป็นการพัฒนาคนให้มีทักษะฝีมือและทำงานได้
อาชีวศึกษาจึงเป็นการจัดการศึกษาที่ปรับเข้าสู่ประเทศไทย 4.0 ได้ ด้วยการปรับตนเองเป็นอาชีวศึกษา 4.0 ขยับจากอาชีวศึกษา 1.0 ที่ผลิตคนในยุคเกษตรกรรม ขยับจากอาชีวศึกษา 2.0 ที่ผลิตคนในยุคแรงงานทักษะฝีมือ ขยับจากอาชีวศึกษา 3.0 ที่ผลิตคนเข้าสู่ระบบแรงงานการผลิตสินค้าส่งออก มาเป็นอาชีวศึกษา 4.0 ที่ผลิตคนยุคดิจิทัลเข้าสู่การควบคุมเครื่องจักรและสร้างสรรค์ประดิษฐ์กรรม อันนำไปสู่ผลิตภัณฑ์จากความคิดสร้างสรรค์ ผลิตคนที่จะไปประกอบอาชีพอิสระและเป็นผู้ประกอบการสมัยใหม่ที่มีทักษะทำมาหากินได้ด้วยตนเอง
วันนี้อาชีวศึกษาจะต้องเข้าสู่ยุค 4.0 ยุคสมัยที่คนอาชีวศึกษายุคใหม่ในแต่ละสาขาถูกสร้างให้พร้อมสำหรับสังคมดิจิทัล ชาญฉลาดในการใช้เทคโนโลยี สร้างสรรค์ผลงานด้วยความคิดสร้างสรรค์ เป็นผู้ปฏิบัติงานที่แก้ปัญหาให้กับหน่วยงาน สื่อสารกับบุคคลอื่นได้อย่างมีความหมาย ทำงานร่วมกับองค์กรและสถานประกอบการได้อย่างกลมกลืน เป็นกำลังคนที่ทรงคุณค่าและพร้อมจะพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนสืบไป
ติชม
ต้องการให้คะแนนบทความนี้่ ?
สร้างโดย :
สถานะ : ผู้ใช้ทั่วไป คอมพิวเตอร์ธุรกิจ |